‘นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทยกับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (1)สัมภาษณ์พิเศษ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
การศึกษา ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหนึ่งในแกนนำในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ถึงทิศทางการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กับความเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมรับมือหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร
“ที่ผ่านมามีทางมีแนวทางอยู่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยไม่ยอมปรับตัว ทำให้ยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเลวร้ายแบบเดิมๆ คือ ผลิตบัณฑิตออกมาไม่มีคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ที่ไม่ยอมทำ เพราะถ้าปรับมหาวิทยาลัยต้องเหนื่อยขึ้น อาจารย์ต้องเหนื่อยขึ้น อาจารย์ก็ไม่อยากทำรัฐบาลก็ไม่ได้จริงจัง ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เข้ามาดูแลก็ไม่ได้จริงจังกับตรงนี้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเน้นเรื่องการทำงานในอนาคต 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การทำงานในอนาคตจะเป็นเรื่องของออโตเมชั่นมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีใหม่เข้ามามาก กำลังคนจะถูกใช้น้อยลง แต่เราก็จะปล่อยให้คนว่างงานไม่ได้ บริษัทต่างๆ เข้าใจและไม่อยากไล่คนออก จึงตั้งเป้าหมายใหม่ ต้องการให้พนักงานไปรีสกิล อัพสกิล ให้ตรงกับการทำงานที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ทำด้วยตัวเอง ก็ต้องไปคุมเครื่องจักร คุมหุ่นยนตร์ 2.สถาการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเห็นว่าการทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เป็นการพิสูจน์ว่าทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานในอนาคตจึงเปลี่ยนไป